หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 400 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 5 – 14 กุมภาพันธ์ 2564 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
สถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 60.75) อายุอยู่ในช่วง 41 – 50 ปี (ร้อยละ 32.00) รองลงมา ช่วงอายุ 18 – 20 ปี (ร้อยละ 25.00) และช่วงอายุ 31 – 40 ปี (ร้อยละ 22.25) ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่อาชีพพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง (ร้อยละ 46.50) รองลงมา นักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ14.25) และอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 14.25) มีภูมิลำเนาในจังหวัดสงขลา มากที่สุด (ร้อยละ 56.25) รองลงมา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช คิดเป็นร้อยละ 11.75 และ 8.25 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.00 เห็นว่าช่วงเวลาวันที่ 16 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ประชาชนร้อยละ 29.5 เห็นว่าฝ่ายค้านผลงานดีกว่าฝ่ายรัฐบาล (ร้อยละ 26.0) นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 37.00 เห็นว่าผลงานฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านผลงานไม่ดีพอๆกัน
ส่วนประเด็นที่ประชาชนต้องการเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ประชาชนเห็นว่าประเด็นการระบาดโควิด-19 มากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.04 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) รองลงมา คือ ประเด็นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น/ประเด็นบ่อนการพนัน มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน 3.86 คะแนน และประเด็นคุณภาพการศึกษา มีค่าเฉลี่ย 3.82 คะแนน ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.50 เห็นว่าไม่เหมาะสมหากมีการนำเสนอข้อมูลพาดพิงสถาบันกษัตริย์
ประชาชนเห็นว่าใครเหมาะสมจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มากที่สุด คือ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” มีค่าเฉลี่ย 6.18 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) รองลงมาเป็น คุณอนุทิน ชาญวีรกุล มีค่าเฉลี่ย 6.14 คะแนน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีค่าเฉลี่ย 5.82 คะแนน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า มีค่าเฉลี่ย 5.79 คะแนน นายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ มีค่าเฉลี่ย 5.11 คะแนน และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ มีค่าเฉลี่ย 5.07 คะแนน ตามลำดับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก Thai PBS News