ขอเชิญเฝ้ารับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในพิธีประทานปริญญาบัตร ม.หาดใหญ่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาทรงประทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2559 และประทานรางวัลเชิดชูเกียรติ “มะหาดเพชร” แก่ผู้ได้รับคัดเลือก ณ หอประชุม อาคารศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วันอาทิตย์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 โดยในปีนี้มีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาและมีสิทธิ์เข้ารับประทานปริญญาบัตร จำนวน 716 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาเอก 5 คน ปริญญาโท 26 คนและปริญญาตรี 685 คน ปีนี้สภามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประทานปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทวิชาการ แก่รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ ประเภททั่วไป แก่นายภาณุ อุทัยรัตน์และประทานรางวัลเชิดชูเกียรติ “มะหาดเพชร” แก่นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล อุทิศตนด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้ ความสามารถด้านวิศวกรรมไฟฟ้า พัฒนาสายอากาศเพื่อวิทยุสื่อสารในประเทศไทยให้มีความก้าวไกลและพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป และอุทิศตนทางด้านวิชาการตลอดมา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาไฟฟ้า สื่อสาร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และสำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาพลาสมาฟิสิกส์ จาก University of Iowa ประเทศสหรัฐอเมริกา รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ เข้าทำงานที่กรมการบินพลเรือน หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และทำงานที่องค์การนาซา ปฏิบัติงานอิเล็กทรอนิกส์ดีไซน์ เอ็นจิเนียร์ ระหว่างศึกษาปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ทุ่มเททำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนา ประเทศในตำแหน่งต่าง ๆ มากมาย เช่น นักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน นับเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของประเทศไทยที่ได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร ทั้งได้ถวายงานใกล้ ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ นาน กว่า ๔๐ ปี ด้วยการถวายงานออกแบบสายอากาศเพื่อวิทยุสื่อสารสนองพระราชดำริ จนได้รับพระราชทานนามสาย อากาศเพื่อวิทยุสื่อสารว่า สุธี ๑, สุธี ๒, สุธี ๓ และสุธี ๔ ไว้ในราชกิจจานุเบกษา ปัจจุบันรองศาสตราจารย์ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สภาวิจัยแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการเทคนิค มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ นอกจากนี้ได้นำความรู้มาเผื่อแผ่ให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในการเป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อพิเศษ “นวัตกรรมตามรอยพ่อ : สิ่งประดิษฐ์ของพ่อ” ของงานนวัตกรรมและคุณภาพ ม.หาดใหญ่ ครั้งที่ ๕ นายภาณุ อุทัยรัตน์ สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำเร็จการศึกษาหลักสูตร โรงเรียนนายอำเภอ หลักสูตรนักปกครองระดับสูงและสำเร็จการศึกษา จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร นายภาณุ อุทัยรัตน์ เริ่มรับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จากนั้นได้รับการพิจารณาเลื่อนระดับตำแหน่งหน้าที่ ให้สูงขึ้นตามลำดับ ได้แก่ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเจาะไอร้อง นายอำเภอศรีสาคร นายอำเภอเมืองสงขลา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ผู้ตรวจราชการ กรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลขาธิการศูนย์อำนวยการ บริหารชายแดนภาคใต้และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น นายภาณุ อุทัยรัตน์ ได้ให้ความสำคัญกับงานยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของสังคม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนอย่างมากมายเป็นอเนกอนันต์ นอกจากนี้ยังดำเนินการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและป้องกันยาเสพติดแบบยั่งยืน และแก้ไขปัญหาที่ดิน บริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จนประชาชนสามารถเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ได้จนถึงปัจจุบัน นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นนักปกครองที่มีศิลปะในการบริหารจัดการอย่างสูงยิ่ง ได้รับการยอมรับและยกย่องจากสังคมมากมาย เช่น ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ปลัดอำเภอดีเด่น ข้าราชการดีเด่นของ ศอ.บต. โล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายอำเภอดีเด่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักรัฐศาสตร์ดีเด่นภาคใต้ สาขาส่วนภูมิภาค จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่และรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ได้สนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ต่าง ๆ อย่างยาวนานและดียิ่ง โดยเหตุที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นนักปกครองที่มีความรู้ความสามารถและมีศิลปะในการบริหารจัดการ อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหงและระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เคยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ และปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้เกือบทุกตำแหน่งติดต่อกันมา ๓๖ ปี อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอยะหา จังหวัดยะลา รองผู้ว่าราชการ จังหวัดนราธิวาสและรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เป็นผู้มีปณิธานแน่วแน่ใน การทำงาน โดยเฉพาะงานการดูแลคุณภาพชีวิตและความสงบสุขของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ การปฏิบัติงานของนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เป็นไปได้ด้วยดีเสมอมา มีผลการปฏิบัติงานเป็นที่ยอมรับของ ทุกฝ่าย โดยเฉพาะการประสานฝ่ายความมั่นคงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้าฝ่ายพลเรือน การมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดน ทั้งยังเคยได้รับ รางวัลข้าราชการดีเด่นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเข้ารับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง ๒ ครั้ง โดยเหตุที่ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เคยปฏิบัติราชการเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งของสังคมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในส่วนของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมและงานด้านบริการวิชาการแก่สังคมมาตลอด เช่น โครงการ เดิน-วิ่ง นานาชาติ ม.หาดใหญ่ เพื่อสันติภาพ จังหวัดชายแดนใต้ โครงการมหกรรมศิลปะและวัฒนธรรม การทดสอบ กอรี มุร๊อตตั้ล และอนาซีดเพื่อสันติสุข ระดับภาคใต้ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย