มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พาย้อนรอยประวัติศาสตร์ กับ กิจกรรม รำลึกสยาม ที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ชมสถาปัตยกรรม “วัดชลธาราสิงเห” หรือ “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” (วัด 7 แผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 10) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะโครงการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ นำทีมโดย อาจารย์ดวงฤดี อุทัยหอม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พร้อมด้วย ทีมสมาชิกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดสงขลา และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ชุมชนวัดชลธาราสิงเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ร่วมกิจกรรม รำลึกสยาม ตามรอยประวัติศาสตร์วัด 7 แผ่นดิน (สมัยรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 10) โดยมีนายประยูร พุทธชาติ นายอำเภอตากใบ และ นักธุรกิจในพื้นที่ บ.ตากใบการโยธา ร่วมให้การต้อนรับในครั้งนี้ อาจารย์ดวงฤดี อุทัยหอม อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม รำลึกสยามในครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่ทางมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ โดย ดร.ปรัชญากรณ์ ไชยคช จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและต่อยอดทางการตลาดท่องเที่ยวให้กับชุมชน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ก็ลงพื้นที่ วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ใน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นสยาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึง รัชกาลที่ 10 และเป็นวัดที่มีความสำคัญที่ช่วยให้ไทยไม่เสียดินแดนแถบนี้ให้กับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมเยี่ยมชมการจักรสานชองชาวบ้าน และอาหารท้องถิ่นที่ชาวบ้านนำมาให้รับประทาน อาทิ ขนมคุนที ข้าวยำกือหยา ปลากุเลาเค็ม เป็นต้น โดยการท่องเที่ยวโดยชุมชนของวัดชลธาราสิงเห ที่นี่มีของดีมากมาย และมีหลายอย่างที่คนรุ่นใหม่ยังไม่รู้จัก ใครได้ลองมาสัมผัสจะรู้เลยว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในทางกลับกัน ยังมีมิติต่างๆ ให้เราได้ศึกษา ค้นคว้า และได้เรียนรู้อีกมาก นางสาวบุญเรือน ไชยรัตน์ วิทยากรชุมชนวัดชลธาราสิงเห เล่าประวัติให้ฟังเบื้องต้นว่า วัดชลธาราสิงเห แต่เดิมชื่อ วัดท่าพรุ หรือวัดเจ๊ะเห ตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเห เพราะวัดอยู่ติดริมน้ำ และคำว่า สิงเห มาจากบุญญาธิการของหลวงพ่อโอภาสพุทธคุณที่มีอิทธิฤทธิ์ดุจดั่งสิงห์ เลยรวมกันเป็น “ชลธาราสิงเห” วัดนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อปี 2403 สร้างโดยพระครูโอภาสพุทธคุณ และสร้างอุโบสถ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี 2416 พร้อมพระประธานและภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญ เพราะ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศอังกฤษได้เข้ามาล่าอาณานิคมทำให้ต้องเสียดินแดนทั้งหมด 4 รัฐ ได้แก่ สายบุรี ตรังกานู เปอร์ลิส และกลันตัน ที่รวมพื้นที่อำเภอตากใบไปด้วย รัชกาลที่ 5 เลยทรงหยิบยกวัดชลธาราสิงเหเป็นข้ออ้างในการทักท้วง ปราบปรามเขตแดน โดยยกเอาอุโบสถ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่มีความสำคัญกับพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่สมควรที่จะตกไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อังกฤษจึงได้ยอมจำนนในเหตุผลของพระองค์ท่าน เลยถอยการปราบปรามเขตแดนออกไปทางใต้ไปจนถึงแม่น้ำสุไหงโก-ลก วัดนี้จึงได้ขนานนามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” ด้านตัววัดชลธาราสิงเหมีความสวยงามผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีน เข้าด้วยกัน มีบรรยากาศริมน้ำให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน และมีภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ คือ ภาษาเจ๊ะเห ที่คนในพื้นที่ใช้พูดคุยสื่อสารกัน ซึ่งภาษาเจ๊ะเหได้ขึ้นทะเบียนทางวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้กันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนวัดชลธาราสิงประมาณ ประมาณ 400 – 500 คน ต่อเดือน ทั้งมาเป็นครอบครัว หรือ นักเรียนมาศึกษาดูงาน ในส่วนของการขับเคลื่อนงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ทางชุมชนได้พยายามค้นหาการละเล่นหรือสิ่งต่างๆ ที่ทำกันในสมัยก่อน และเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก มารื้อฟื้นใหม่ ซึ่งเวลานักท่องเที่ยวเข้ามาก็อยากนำเสนอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น