“ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” กับความเป็นอยู่ของชาวสตูล

“ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” กับความเป็นอยู่ของชาวสตูล

นักศึกษามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ จัดโครงการ “ความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจาก การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ในหัวข้อ “การบริหารจัดการ : แนวคิดและแนวปฏิบัติท่าเรือปากบารา” เพื่อทราบถึงผลกระทบจากการดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยได้เชิญวิทยากรจากเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลอย่าง คุณสมบูรณ์ คำแหง และ คุณกิตติภพ สุทธิสว่าง จากกลุ่มคนรักจะนะองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา ในกรณีศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งมีนักศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายกว่า 300 คน ณ ห้องประชุมหาดป่าตอง มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา คุณสมบูรณ์ คำแหง กล่าวถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูลว่า “รัฐบาลมีนโยบายจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการขนส่งสินค้าของโลกนั้น ช่องทางในการส่งสินค้าที่ดีที่สุดคือ การขนส่งทางเรือ ถ้าพูดถึงในเรื่องของระยะเวลาการขนส่งทางเรืออาจจะช้ากว่าการขนส่งทางอากาศซึ่งใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง แต่เมื่อเทียบกับปริมาณจะเห็นว่าการขนส่งทางเรือนั้นบรรทุกสินค้าได้จำนวนมากกว่า ดังนั้นประเทศไทยจึงสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้นเพื่อใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศและภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2567 ” แม้ว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะสร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากมาย แต่ผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมาก็ยังคงเป็นคำถามที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังวิตกกังวล ซึ่งเรื่องนี้คุณสมบูรณ์กล่าวว่า “ ชาวบ้านจังหวัดสตูลโดยส่วนใหญ่จะมีความวิตกกังวลว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดสตูล ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จก็จะมีเรือสินค้าจำนวนมากที่เข้ามาพร้อมกับมลพิษทางทะเล ส่งผลต่ออาชีพการประมงชายฝั่งเพราะ น้ำในทะเลจะอยู่ไม่ได้ แม้กระทั่งการขุดดินหรือหินเพื่อสร้างท่าเรือก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติได้ทั้งนั้น นับว่าเป็นอีกคำถามที่จะต้องมีการอธิบายรายละเอียดและความเข้าใจเพิ่มเติมต่อไป”

http://www.hu.ac.th/press/images_upload/201311212491.doc