มหาดุริยางค์ไทย เทิดไท้ 84 พรรษา ตามรอยพระยุคลบาท

มหาดุริยางค์ไทย เทิดไท้ 84 พรรษา ตามรอยพระยุคลบาท

มหาดุริยางค์ไทย เทิดไท้ 84 พรรษา ตามรอยพระยุคลบาท มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สังกัดภาครัฐบาลและเอกชน จัดงานบรรเลงดนตรีไทย “มหาดุริยางค์ไทย เทิดไท้ 84 พรรษา ตามรอยพระยุคลบาท” โดยนักเรียน นักศึกษาจาก 12 สถาบัน และ“อาจารย์สมบัติ สังเวียนทอง ศิลปินชื่อดังจากกรมศิลปากร เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ พระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยมีนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อาจารย์ประณีต ดิษยะศริน ผู้รับใบอนุญาตมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ประธานในการจัดงานฯ “การจัดงานฯ ในครั้งนี้ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา และในฐานะของคนไทยถือว่าได้ร่วมกันอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีไทย ด้วยความหวงแหนมรดกของชาติอันทรงคุณค่าไว้ให้เยาวชนรุ่นหลัง ขอขอบคุณ อาจารย์สาย จันทรพัฒน์ อาจารย์เจริญ ธารณมัย อาจารย์วรเจตน์ รัตนจรณะ อาจารย์กี จันทศร ที่ช่วยกำกับดูแลการฝึกซ้อม ขอขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนและวิทยาลัย ทั้งหมด 12 สถาบัน รวมทั้งองค์กร บริษัทต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งรายได้ในการจัดงานจะมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาและชมรมดนตรีไทยจังหวัดสงขลาต่อไป” อาจารย์กี จันทศร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วาทยากรผู้ควบคุมวงดนตรี “มหาดุริยางค์ไทยวงนี้ เป็นการรวมตัวของนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และนักดนตรีไทยทั้งหมด 120 ชีวิต รวม 12 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ โรงเรียนมหาวชิราวุธฯ โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา โรงเรียนวรนารีเฉลิม โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง นอกจากนี้ยังได้เชิญอาจารย์สมบัติ สังเวียนทอง ศิลปินชื่อดังจากกรมศิลปากรมาร่วมขับเสภาและร้องเพลงในการแสดงดนตรีครั้งนี้ด้วย นับเป็นการรวมตัวของนักดนตรีไทยในภาคใต้ครั้งใหญ่ ซึ่งกว่าจะมาเป็นวงมหาดุริยางค์ไทยได้นั้น นักดนตรีไทยทุกคนผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างหนักและยาวนาน ผ่านปัญหาอุปสรรคในการฝึกซ้อมมามากมาย เช่น ในการฝึกซ้อมครั้งแรก ๆ เจอปัญหาทักษะของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะมาจากต่างสถาบันและอายุต่างกัน ก็ต้องให้เวลาในการฝึกสอนเด็กแบบค่อยเป็นค่อยไปจนกว่าจะมารวมวงกันได้ การแสดงวงใหญ่มีเครื่องดนตรีหลายชิ้น ก็ต้องแยกกันไปซ้อมเป็นกลุ่มย่อย แล้วค่อยมารวมวงทั้งหมดอีกทีหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเล่นได้ในแต่ละเพลง นักดนตรีไทยทุกคนต้องใช้ความพยายาม ความตั้งใจ ความ มุมานะในการฝึกซ้อมอย่างหนัก จนสามารถรวมวงและบรรเลงเพลงไทยอันทรงคุณค่าให้ได้ชมกันในครั้งนี้” อาจารย์สมบัติ สังเวียนทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย จากกรมศิลปากร “ถือเป็นโอกาสดีที่นักดนตรีไทยรวมถึงนักเรียนนักศึกษาจำนวนนับร้อยคนในภาคใต้ ได้มาบรรเลงดนตรีไทยร่วมกัน เพราะครั้งล่าสุดที่ครูได้มีโอกาสร่วมแสดงมหาดุริยางค์ไทย คือในงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 นี่จึงถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ครูได้มีโอกาสร่วมการแสดงมหาดุริยางค์ไทยอีกครั้ง โดยการแสดงในครั้งนี้ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่และเต็มวงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ครูรักและชื่นชอบในดนตรีไทยและหัดเล่นดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็กๆ มุ่งมั่นฝึกฝนจนกลายเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย จนวันนี้เมื่อได้มาเป็นครู ก็อยากจะถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่ อยากให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์และหันมาสนใจดนตรีไทย อยากให้ช่วยกันสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทย สืบทอดดนตรีไทยให้คงอยู่สืบไป”

http://www.hu.ac.th/press/images_upload/20122714551.doc