ม.หาดใหญ่คว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน “โครงการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขกับ TMA”

ม.หาดใหญ่คว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน “โครงการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขกับ TMA”

ม.หาดใหญ่คว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน “โครงการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขกับ TMA” ม.หาดใหญ่เจ๋งจริง คว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน จากโครงการ”เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เรือกอและจำลอง”เมื่อปีที่แล้ว สู่โครงการ”เกาะสะอาด ปราศจากมลพิษ ชีวิตเป็นสุข” ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษา 150,000 บาท โครงการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขกับ TMA จัดโดยมูลนิธิยุทธสาร ณ นคร เพื่อสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ TMA CSR Project คือให้นักศึกษาจัดทำโครงการที่มีแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคม มีนักศึกษาจากทั่วประเทศส่งโครงการเข้าประกวด 23 โครงการจาก 25 สถาบัน โดยผลการตัดสินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม Community Activities จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีมชมรมนักศึกษาพัฒนาธุรกิจเพื่อชุมชนและสังคม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีมสายลมและแสงแดด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีม Community Activities นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ นำผลงานโครงการ “เกาะสะอาด ปราศจากมลพิษ ชีวิตเป็นสุข” คว้าชัยชนะในปีนี้ไปครองได้สำเร็จ โดยสมาชิกในทีมประกอบด้วย นายพัฒนพงค์ ศรีน้อย นางสาวรุ่งฤดี ชินโชติวรานนท์ นางสาวสุภาพร แซ่หว่อง นางสาวปริยานุช เทพเกื้อ นางสาวสุวดี ศรีสมบูรณ์ และนางสาวกฤตยา บางเตียว นายพัฒพงษ์ ศรีน้อย เล่าถึงโครงการ “เกาะสะอาด ปราศจากมลพิษ ชีวิตเป็นสุข”ว่า “พวกเราลงทำกิจกรรมในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพราะเคยได้รับข้อมูลว่าที่เกาะหลีเป๊ะกำลังประสบปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานแล้วและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เราลงพื้นที่และจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนในพื้นที่หันมาช่วยกัน โดยกิจกรรมของโครงการหลัก ๆ ได้แก่ กิจกรรมก้าวสู่ความเป็นหนึ่งแห่งอันดามัน กิจกรรมเก็บขยะด้วยเสียงเพลง กิจกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อมกับขยะสร้างสรรค์ กิจกรรมจิตแจ่มใสกายแข็งแรง และกิจกรรมสุดท้าย คือการระดมทุนสร้างเตาเผาขยะ จุดเด่นของโครงการคือการดึงเอาชุมชนในแต่ละส่วนให้มีส่วนร่วม ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน และเยาวชน ทุกส่วนให้ความร่วมมือและช่วยกันทำกิจกรรม คือ เยาวชนมีจิตสำนึกที่ดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของตนเอง ผู้ประกอบการมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มากขึ้น และภาครัฐให้ความสำคัญสนับสนุนส่งเสริมโครงการต่าง ๆ อย่างจริงจัง ซึ่งโครงการของพวกเราสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไปได้จริง ตามโจทย์ของ TMA CSR Project” นางสาวรุ่งฤดี ชินโชติวรานนท์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ว่า “โครงการนี้ถือเป็นห้องเรียนอีกห้องหนึ่ง ที่พวกเราสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาลงมือปฏิบัติจริง จึงอยากให้เพื่อน ๆ นักศึกษาหาโอกาสเข้าร่วมโครงการเช่นนี้บ้าง เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองและนำเอาประสบการณ์ดี ๆ จากการทำโครงการ ไปใช้กับชีวิตการทำงานในอนาคตได้”

http://www.hu.ac.th/press/images_upload/2011122523471.doc