นศ.ม.หาดใหญ่ภูมิใจ“ผักปลอดสารพิษที่บางเหรียง” ได้รับรางวัลจากโครงการ กล้าใหม่ฯ ของ ธ.ไทยพาณิชย์

นศ.ม.หาดใหญ่ภูมิใจ“ผักปลอดสารพิษที่บางเหรียง” ได้รับรางวัลจากโครงการ กล้าใหม่ฯ ของ ธ.ไทยพาณิชย์

นศ.ม.หาดใหญ่ภูมิใจ“ผักปลอดสารพิษที่บางเหรียง” ได้รับรางวัลจากโครงการ กล้าใหม่ฯ ของ ธ.ไทยพาณิชย์ โครงการกล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน ปี 2553 จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทั่วประเทศส่งโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในปีนี้มีนักศึกษาจากทั่วประเทศส่งโครงการเข้าร่วมแข่งขัน 377 ทีม โดยทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลชนะเลิศ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และวิทยาลัยเชียงรายได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สำหรับทีม“ผักปลอดสารพิษที่บางเหรียง” ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่สามารถฝ่าฝันจาก 377 ทีม จนผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย และได้รับรางวัลชมเชย พร้อมเงินสนับสนุนโครงการ 75,000 บาท สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวสุวิญชา มหานิล นางสาวขนิษฐา วายุภักดิ์ นางสาวณัฐกานต์ กาวชู นางสาวนิสรีน แวหะยี นางสาวรินรภัทร์ วิชชู นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ และนายอัสดุสสลาม หวังโสะ นักศึกษาสาขาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ คนเก่งจากม.หาดใหญ่ทั้ง 6 คน กล่าวภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชน และดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่รางวัลชนะเลิศ แต่โครงการที่ทำขึ้นเป็นประโยชน์และสามารถพัฒนาชุมชนได้จริง นางสาวขนิษฐา เล่าถึงโครงการผักปลอดสารพิษที่บางเหรียงว่า “ชุมชนบ้านบางเหรียง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยพวกเราเข้าไปศึกษาและเก็บข้อมูล จนเป็นที่ตกลงกันในกลุ่มว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความน่าสนใจและมีความท้าทายให้พวกเราเข้าไปศึกษา เพราะเราพบปัญหาในเบื้องต้นว่า ผักปลอสารพิษที่นี่ยังมีคู่แข่ง และวิธีบริหารจัดการยังไม่แข็งพอ จึงช่วยกันวางแผนโครงการจนเกิดเป็นกิจกรรม 5 โครงการย่อยที่จะเข้ามาส่งเสริมธุรกิจปลูกผักให้แก่ชุมชน ได้แก่ 1.การพัฒนาสินค้า โดยเน้นการสร้งแบรนด์เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้น 2.โครงการภูมิปัญญาชาวบ้านป้องกันศัตรูพืช โดยการรวบรวมข้อมูลการกำจัดศัตรูพืชที่ไม่พึ่งยาฆ่าแมลงแล้วผลิตเป็นคู่มือแจกฟรี 3.โครงการห้องเรียนปลอดสารพิษ คือการจัดทำศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตรที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมได้ 4.การประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และ5.โครงการคนกินปลอดภัย คนปลูกอยู่ได้ โดยเชิญวิทยากรจากภายนอกเข้ามาให้ความรู้แก่คนในชุมชน” นางสาวณัฐกานต์ กล่าวว่า “เงินทุนสนับสนุนโครงการที่เราได้รับในครั้งนี้ จะมอบคืนแก่ชุมชนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จต่อไป จึงขอขอบคุณชาวบ้านบางเหรียง ม.6 อ.บางกล่ำทุก ๆ คนที่ให้ความร่วมมือในการจัดโครงการ ขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ให้พวกเราได้รู้จักนำความรู้จากตำราเรียน มาลงมือปฏิบัติจริง ขอบคุณมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ที่ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่พวกเราตลอดการทำโครงการ และฝากถึงเพื่อน ๆ นักศึกษาว่าการทำกิจกรรมคือประสบการณ์ชีวิตที่คุ้มค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียน จึงอยากเชิญชวนเพื่อน ๆ หันมาสนใจทำกิจกรรมให้มากขึ้น เพราะการทำกิจกรรมและได้ลงมือปฏิบัติจริงจะสอนให้เรารู้จักโลกใบนี้ได้กว้างขึ้น”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

http://www.hu.ac.th/press/images_upload/2011122523351.doc