สรุปผลการสำรวจ ผศ.ดร. กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาราคายางพาราของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 7.29 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) ส่วนมาตรการการรับซื้อยางพารา กิโลกรัมละ 45 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว (ร้อยละ 53.49) เมื่อสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือน พบว่า ประชาชนระบุว่าปัญหาราคายางพาราตกต่ำส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนในระดับมาก (ร้อยละ 75.34) รองลงมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือนในระดับปานกลางและระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 14.00 และ 10.67 ตามลำดับ ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าเล่าเรียนบุตร มากที่สุด (ร้อยละ 39.57) รองลงมา คือ ค่าอาหารภายในครอบครัว (ร้อยละ 29.50) และค่าปุ๋ยในการเกษตร (ร้อยละ 15.82) ส่วนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำสวนยางพารา พบว่า ประชาชนร้อยละ 52.04 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนยางโดยการปลูกพืชอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของครอบครัวหลังวิกฤตราคายางตกต่ำ และร้อยละ 47.96 ไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนยาง เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการชุมนุมของชาวสวนยางพาราในกรณีวิกฤตราคายางพาราตกต่ำพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 84.01 เห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะส่งผลต่อการชุมนุมเรียกร้องราคายางพาราตกต่ำในระดับมาก รองลงมา ส่งผลต่อการชุมนุมเรียกร้องราคายางพาราตกต่ำในระดับปานกลางและระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 15.65 และ 0.34 ตามลำดับ แนวทางการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรมีการประกันราคายางพารา ไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม มากที่สุด (ร้อยละ 60.00) รองลงมา คือ รัฐบาลควรมี การสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศ (ร้อยละ 45.75) และแปรรูปอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ (ร้อยละ 45.50) ตามลำดับ