HATYAI POLL 1/57 “ประชาชนคิดอย่างไรกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา”

HATYAI POLL 1/57 “ประชาชนคิดอย่างไรกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา”

สรุปผลการสำรวจ

ผศ.ดร. กอแก้ว  จันทร์กิ่งทอง  รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล  พบว่า  ประชาชนในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ต้องการให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์  (ร้อยละ 76.00) โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์ สัปดาห์ละ 1-2 วัน มากที่สุด (ร้อยละ 66.25) รองลงมา รับรู้ข้อมูลข่าวสารสัปดาห์ละ 3-4 วัน  (ร้อยละ 22.92) รับรู้ข้อมูลข่าวสาร    ทุกวันหรือเกือบทุกวัน (ร้อยละ 6.30) และไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์    (ร้อยละ 4.53)  ตามลำดับทั้งนี้ส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์ผ่านโทรทัศน์ มากที่สุด (ร้อยละ 64.00) รองลงมา รับรู้ผ่านหนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 22.50) รับรู้ผ่านสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 18.25) และรับรู้ผ่านวิทยุ (ร้อยละ 17.25) ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์ จะช่วยให้สงขลาเป็นเมืองยางพารา (ร้อยละ 70.00) นอกจากนี้ประชาชนเห็นว่าจะมีส่วนช่วยให้ยางพาราราคาเพิ่มสูงขึ้นได้ (ร้อยละ 69.85) ในขณะเดียวกันการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์ จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจในอำเภอหาดใหญ่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 41.71)

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อดีในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์ พบว่า ประชาชนในจังหวัดสงขลาเห็นว่าจะช่วยทำให้สงขลาเป็นเมืองยางพาราได้ มากที่สุด (ร้อยละ45.57) รองลงมา สามารถขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (ร้อยละ 41.01) เศรษฐกิจในพื้นที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 33.16) แก้ปัญหาการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย (ร้อยละ 33.16) และมีการจ้างงาน/มีการเพิ่มของรายได้ของประชาชน (ร้อยละ 30.89) ทั้งนี้เมื่อสอบถามข้อเสียในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดาและปาดังเบซาร์ พบว่า ประชาชนเห็นว่าอาจทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด มากที่สุด (ร้อยละ 31.55) รองลงมา ปัญหาความหนาแน่นของประชากร (ร้อยละ 25.70) และปัญหาสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 22.39) ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงความพร้อมด้านการใช้ภาษาอังกฤษในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พบว่า ประชาชนคิดว่าตนเองมีความพร้อมด้านการใช้ภาษาอังกฤษในระดับน้อย (ร้อยละ 53.13) ในขณะที่ด้านภาษาเพื่อนบ้าน พบว่า ประชาชนเห็นว่าภาษาเพื่อนบ้านมีความจำเป็นต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในระดับปานกลาง (ร้อยละ 42.11)

http://www.hu.ac.th/press/images_upload/2014827961.pdf