หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 402 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 24-31 เมษายน 2557 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้ สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 62.15) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 36.48) รองลงมา อายุ 21-30 ปี (ร้อยละ 30.36) และอายุ 41-50 ปี (ร้อยละ 15.82) ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาชีพพนักงานบริษัท/รับจ้าง (ร้อยละ 21.08) รองลงมา คือ ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 19.54) นักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 14.91) รับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 14.40) และข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 12.08) ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 84.24) ศาสนาพุทธ (ร้อยละ 14.67) และศาสนาคริสต์ (ร้อยละ 1.09) สรุปผลการสำรวจ ผศ.ดร. กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนพอใจภาพรวมของการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับน้อย โดยมีคะแนนเฉลี่ย 3.78 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.64 เห็นว่าสาเหตุที่การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ รัฐบาลไม่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิต การข่าวของหน่วยงานภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพและประชาชนไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 53.13 46.37 และ 40.35 ตามลำดับ จากการสำรวจ พบว่า แนวทางในการพัฒนาของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จและเป็นที่ถูกใจของประชาชน โดยที่แนวทางการส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม มีค่าความแตกต่างระหว่างพอใจและไม่พึงพอใจน้อยที่สุด รองลงมา แนวทางการสนับสนุนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในการนำวิชาสันติศึกษามาทำการสอนทุกระดับ และแนวทางการส่งเสริมการเรียนการสอนในระบบ 2 หรือ 3 ภาษา ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าแนวโน้มของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีปัญหาจะเหมือนเดิม (ร้อยละ 66.58) รองลงมา แนวโน้มปัญหารุนแรงขึ้น (ร้อยละ 30.91) และแนวโน้มปัญหาคลี่คลาย (ร้อยละ 2.51) จากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ประชาชนเกิดความสูญเสียเกี่ยวกับภาวะความเครียด/สุขภาพจิต มากที่สุด (ร้อยละ 33.00) รองลงมา คือ ความสูญเสียโอกาสเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ (ร้อยละ 23.67) ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 15.33) และสูญเสียโอกาสระบบบริการสาธารณสุข (ร้อยละ 10.33)