หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในรอบ 1 ปี 9 เดือน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,102 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2556 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้
สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง(ร้อยละ 56.3) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 36.5) รองลงมา อายุ 21-30 ปี (ร้อยละ 35.1) อายุ 41-50 ปี (ร้อยละ14.3) และอายุ 18-20 ปี (ร้อยละ8.4) ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างอาชีพรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 31.1) รองลงมา อาชีพพนักงานบริษัท/รับจ้าง ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย และนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 22.3, 16.0 และ 13.7 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล ในประเด็นผลงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในรอบ 1 ปี 9 เดือน พบว่า ประชาชนภาคใต้มีความพึงพอใจในการบริหารงานโดยภาพรวมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในระดับน้อย (คะแนนเฉลี่ย 3.01 คะแนน จาก 10 คะแนน) และเมื่อพิจารณาความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในรอบ 1 ปี 9 เดือน พบว่า ด้านการท่องเที่ยว เป็นการบริหารงานที่ได้คะแนนสูงสุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 3.30 คะแนน รองลงมา ได้แก่ การบริหารงานด้านการศึกษา ( 3.20 คะแนน) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ( 3.16 คะแนน) และด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ( 3.12 คะแนน) ตามลำดับ ในส่วนการบริหารงานที่ประชาชนมีความพึงพอใจที่มีคะแนนต่ำ คือ ผลงานการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น (2.74 คะแนน) ผลงานการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (2.83 คะแนน) และการสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติ (2.84 คะแนน) ตามลำดับ
ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (คะแนนเฉลี่ย 2.99 คะแนนจาก 10 คะแนน) ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาสินค้าการปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนในระดับมาก (ร้อยละ 70.7) ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 24.2) ในระดับน้อย (ร้อยละ 5.1)
ประชาชนชื่นชอบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มากที่สุด (ร้อยละ 20.1) รองลงมา นโยบายคืนภาษีรถคันแรก (ร้อยละ 16.6), นโยบายบัณฑิตที่จบปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท(ร้อยละ 14.2)และนโยบายคืนภาษีบ้านหลังแรก (ร้อยละ 11.4) ตามลำดับ
ประชาชนเห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล มากที่สุด (ร้อยละ 26.5 ) รองลงมา เป็นปัญหาการเมือง (ร้อยละ 25.2) และปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ (ร้อยละ 22.5 )ตามลำดับ