หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทและราคาทองคำในตลาดโลก โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 801 คน โดยใช้ แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2556 สรุปผลการสำรวจดังนี้
สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง(ร้อยละ 52.2) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 57.1) รองลงมา อายุ 41-50 ปี (ร้อยละ15.9) และอายุ 21-30 ปี (ร้อยละ15.1) ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมีอาชีพรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 35.6) รองลงมา อาชีพประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 28.0) พนักงานบริษัท/รับจ้าง (ร้อยละ 18.1) และแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ (ร้อยละ 5.0) ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนภาคใต้มีความพึงพอใจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในระดับน้อย (คะแนนเฉลี่ย 3.39 คะแนน จาก 10 คะแนน)
ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้ (ร้อยละ 71.3) รองลงมา ไม่แน่ใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้ (ร้อยละ 15.5) และเชื่อมั่นธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้ (ร้อยละ 13.2) ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพดีขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 49.6) รองลงมา การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพดีขึ้นปานกลาง (ร้อยละ 34.4) และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ไม่ช่วยให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพขึ้น (ร้อยละ 8.2)
นอกจากนี้ประชาชนเห็นว่าหากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งในระดับ 27-28 เหรียญสหรัฐ จะส่งผลต่อการปลดคนงานค่อนข้างน้อย (ร้อยละ 46.9)
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการเก็บภาษีเงินไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น มากที่สุด (ร้อยละ 45.2) รองลงมา เป็นมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2% (ร้อยละ 27.2) และมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ทำกลไกค้ำประกันทำสัญญาเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ร้อยละ 19.5)
ประชาชนส่วนน้อยได้มีการซื้อทองในช่วงที่ทองราคาลง (ร้อยละ 46.3) โดยประชาชนส่วนใหญ่ซื้อทองในลักษณะทองรูปพรรณ (ร้อยละ 76.5) และมีการซื้อทองแท่ง (ร้อยละ 23.5) ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าการซื้อทองเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย (ร้อยละ 49.2) รองลงมา การซื้อทองเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยปานกลาง (ร้อยละ 32.4) การซื้อทองเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย มาก (ร้อยละ 11.6) และการซื้อทองไม่มีความเสี่ยงเลย (ร้อยละ 6.8)