HATYAI POLL ครั้งที่ 19-2555 เรื่อง “ ประชาชนคิดอย่างไรกับปัญหาความมั่นคงของรัฐ”

HATYAI POLL ครั้งที่ 19-2555 เรื่อง “ ประชาชนคิดอย่างไรกับปัญหาความมั่นคงของรัฐ”

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงของรัฐ โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 1,005 คน โดยใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 9-13 เมษายน 2556 สรุปผลการสำรวจดังนี้ สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 59.8) มีอายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 36.2) รองลงมา อายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 30.8) และอายุ 18-20 ปี (ร้อยละ 14.9) ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 29.7) รองลงมา อาชีพประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 21.2) พนักงานบริษัท/รับจ้าง (ร้อยละ 15.3) และรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 13.4) ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างนับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 69.8) และศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 27.6) สรุปผลการสำรวจ ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศ มากที่สุด (ร้อยละ 48.2 ) รองลงมา ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 16.6) ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร (ร้อยละ 11.0) และปัญหาการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ (ร้อยละ 10.8 ) นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าแนวโน้มของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังมีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN ปัญหาจะเหมือนเดิม (ร้อยละ 61.7) รองลงมา แนวโน้มปัญหารุนแรงขึ้น (ร้อยละ 31.9) และแนวโน้มปัญหาคลี่คลาย (ร้อยละ 6.4) ประชาชนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอกลุ่ม BRN จะจัดให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองแบบพิเศษในรูปแบบมหานครปัตตานีหรือปัตตานีมหานคร (ร้อยละ 64.2) ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเป็นเขตปกครองแบบพิเศษโดยยึดโมเดลอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 57.9) และไม่เห็นด้วยกับการจัดให้เป็นเขตปกครองพิเศษ (ร้อยละ 46.6) อีกทั้งประชาชนยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการยกเลิกกฎหมายพิเศษ (ร้อยละ 59.7) ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหารออกจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 57.2) และไม่เห็นด้วยกับการใช้กองกำลังท้องถิ่นในการดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 40.5) ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากในอนาคตจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งฉบับ (ร้อยละ 52.8) รองลงมา เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งฉบับ (ร้อยละ 17.5) และประชาชนที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งฉบับ (ร้อยละ 29.7) นอกจากนี้ภาพรวมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พบว่า ประชาชนคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในทุกมาตราไม่ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่มีอยู่เดิม(ร้อยละ 42.9) โดยที่ประชาชนคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ให้อัตราการสูงสุดสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้แต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น มากที่สุด (ร้อยละ 45.0)

• ดาวน์โหลดบทความ