HATYAI POLL ครั้งที่ 14 เรื่อง “ เยาวชนไทยคิดอย่างไรกับวันวาเลนไทน์”

HATYAI POLL ครั้งที่ 14 เรื่อง “ เยาวชนไทยคิดอย่างไรกับวันวาเลนไทน์”

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับเยาวชนไทยคิดอย่างไรกับวันวาเลนไทน์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,102 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2555 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้ สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 67.0) มีสถานภาพโสด (ร้อยละ 52.9) รองลงมา มีแฟนแล้ว (ร้อยละ 34.9) และสถานภาพสมรสแล้ว (ร้อยละ 11.9) ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 70.2 ) มีเพียงร้อยละ 29.8 เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน สรุปผลการสำรวจ รศ. ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ร้อยละ68.7 ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์แต่ส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญในระดับน้อยถึงปานกลาง มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ให้ความสำคัญวันวาเลนไทน์ในระดับมาก แต่ร้อยละ 31.3 ไม่ได้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์เลย จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มคนทำงานช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี (ร้อยละ 77.9)ให้ความสำคัญวันวาเลนไทน์มากกว่ากลุ่มนักศึกษาที่ให้ความสำคัญวันวาเลนไทน์เพียงร้อยละ 63.1 เท่านั้น เยาวชนร้อยละ 47.8 ต้องการออกไปเที่ยวในวันวาเลนไทน์ โดยที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.7 ไปเที่ยวกับแฟน/คนรัก มากที่สุด รองลงมา คือ ไปเที่ยวกับเพื่อน(ร้อยละ 18.6) และครอบครัว (ร้อยละ 18.0) ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.2 ต้องการทำกิจกรรมการไปดูหนังในช่วงวันวาเลนไทน์ มากที่สุด รองลงมาคือ รับประทานอาหารนอกบ้าน , เที่ยวกลางคืนเธค ผับ บาร์ และเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า คิดเป็นร้อยละ 35.4 , 23.3 และ 21.5 ตามลำดับ ทั้งนี้เยาวชนร้อยละ 58.5 มีการซื้อสิ่งของในช่วงวาเลนไทน์ โดยที่เยาวชนร้อยละ18.2 จะมีค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ น้อยกว่า 300 บาท มากที่สุด รองลงมา จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 501-1,000 บาทและมากกว่า 301-500 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.8 และ 12.7 ตามลำดับ มีเพียงเยาวชนร้อยละ 5.9 ที่ทำของมอบให้กับคนรัก/แฟนด้วยตนเอง และร้อยละ 35.6 ไม่ได้ซื้อของขวัญมอบให้กับคนรัก/แฟน เยาวชนร้อยละ 43.1 ต้องการบอกรักแก่คนรักหรือแฟนด้วยตนเอง มากที่สุด รองลงมา บอกรักผ่านอินเทอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์ , บอกรักผ่านการมอบของขวัญ และบอกรักผ่านโทรศัพท์ คิดเป็นร้อยละ 18.0, 15.2 และ 8.4 ตามลำดับ ส่วนความคิดเห็นต่อความคาดหวังจากคนรักในวันวาเลนไทน์ พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 คาดหวังจากคนรักหรือแฟนในช่วงวันวาเลนไทน์ โดยที่ร้อยละ 37.5 คาดหวังให้คนรักหรือแฟนบอกรักและแสดงความรัก มากที่สุด รองลงมา คาดหวังจากคนรักหรือแฟนให้มอบดอกไม้และของขวัญ คิดเป็นร้อยละ 9.7 และ 9.5 ตามลำดับ ทั้งนี้เยาวชนร้อยละ 48.6 จะเสียใจเล็กน้อยหากไม่ได้สิ่งที่หวังจากคนรักหรือแฟน รองลงมา รู้สึกเฉยๆและเสียใจมาก คิดเป็นร้อยละ 32.8 และ 14.2 ตามลำดับ เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83.7 คิดว่าการแสดงความรักในที่สาธารณะในช่วงวันวาเลนไทน์เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมของสังคมไทย มีเพียงร้อยละ 16.3 เป็นเรื่องที่สามารถแสดงความรักในที่สาธารณะทำได้ในช่วงวัน วาเลนไทน์ นอกจากนี้เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.0 เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์เป็นเรื่องผิดปกติสำหรับสังคมไทย เยาวชนร้อยละ 31.2 คิดว่าปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ของเยาวชนในช่วงวันวาเลน์ไทน์ เป็นประเด็นที่ผู้ปกครองและสังคมไทยเป็นห่วง มากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 25.2 และ 20.0 ตามลำดับ นอกจากนี้เยาวชนร้อยละ 58.7 เห็นว่าเด็กควรได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว มากที่สุด รองลงมา คือ ควรสั่งสอน ศีลธรรมและจริยธรรมให้แก่เยาวชน , ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม และมีมาตรการควบคุมสื่อต่างๆที่ยั่วยุพฤติกรรมซ่อนเร้นของเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 43.5 , 42.9 และ 38.5 ตามลำดับ

• ดาวน์โหลดบทความ