หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนในอำเภอหาดใหญ่ เกี่ยวกับบทเรียนน้ำท่วมกรุงเทพสะท้อนการรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,096 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2554 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้
สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 66.4) อายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 30.2) รองลงมา มีอายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 29.8) และอายุ 41-50 ปี (ร้อยละ 18.2) ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีอาชีพประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 23.3) รองลงมา รับจ้างทั่วไป , นักเรียน/นักศึกษา, พนักงานบริษัท/ลูกจ้าง และข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ คิดเป็นร้อยละ 19.3 , 18.7 , 16.7 และ 9.5 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
รศ. ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า คนหาดใหญ่มีความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในระดับน้อย มีค่าเฉลี่ย 3.56 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) ส่วนประเด็นเกี่ยวกับถุงยังชีพของ ศปภ. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.1 เห็นว่าส่อไปในทางทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพ และร้อยละ 35.9 เห็นว่ามีความโปร่งใสในการจัดซื้อถุงยังชีพ
ประชาชนร้อยละ 54.6 ไม่วิตกกังวลจะเกิดน้ำท่วมหาดใหญ่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และร้อยละ 34.6 วิตกกังวลในการเกิดน้ำท่วมในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ประชาชนอำเภอหาดใหญ่มั่นใจต่อความพร้อมในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของเทศบาลอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ย 5.48 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการกั้นน้ำด้วยกระสอบทราย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 จะไม่ใช้กระสอบทรายกั้นน้ำหากเกิดน้ำท่วมหาดใหญ่ และร้อยละ 34.6 จะใช้กระสอบทรายกั้นน้ำหากเกิดน้ำท่วมหาดใหญ่
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่ พบว่าคนหาดใหญ่ร้อยละ 55.9 ความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ยังเหมือนเดิม และร้อยละ 30.6 เห็นว่ามีแนวโน้มของความพร้อมรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่ดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 13.5 ที่เห็นว่าความพร้อมรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ความพร้อมในด้านการประชาสัมพันธ์ศูนย์อพยพต่างๆ และความรวดเร็วและระบบการแจ้งเตือนภัย ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และประชาชนสะท้อนในส่วนของความพร้อมในการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ และความพร้อมของเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือ ต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม
คนหาดใหญ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.0 ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมโดยที่สินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น มากที่สุด รองลงมา การเดินทางไม่สะดวก สภาพจิตใจย่ำแย่มีแต่ข่าวความเสียหายและมีการแห่ซื้อสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 56.7 , 44.5 และ 41.6 ตามลำดับ